ข่าวประชาสัมพันธ์

HAPPIINOMETER: กฎ 8-8-8 บริหารเวลาได้ ก็สุขได้
หน้าหลัก / ข่าวประชาสัมพันธ์ / HAPPIINOMETER: กฎ 8-8-8 บริหารเวลาได้ ก็สุขได้
06/07/2565 | 959 ครั้ง

เมื่อการบริหารเวลาต้องสมดุลทั้งชีวิตการทำงาน ชีวิตส่วนตัว รวมถึงการได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ขณะที่เวลาทำงานโดยทั่วไปที่เป็นไปตามกฎหมายแรงงานของประเทศไทยกำหนดไว้คือ จำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ไม่เกิน 48 ชั่วโมง หรือใน 1 วันทำงานได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมง และงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยของลูกจ้างกำหนดให้ทำงานได้ไม่เกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือใน 1 วันทำงานได้ไม่เกิน 7 ชั่วโมง เมื่อชีวิตการทำงานถูกนำไปใช้แล้ว 8 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย แล้วใน 16 ชั่วโมงที่เหลือของชีวิตใน 1 วัน เราจะจัดสรรเวลาได้อย่างไรบ้าง หากนำกฎแห่งการจัดสรรเวลา 8-8-8 ของโรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) นักเศรษฐศาสตร์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่กำหนดเวลาเป็น 3 ช่วงคือ 8 ชั่วโมงแรก เป็นเวลาแห่งการทำงาน 8 ชั่วโมงถัดไปคือเวลาของการใช้ชีวิตร่วมกับสังคม เพื่อน ครอบครัว รวมไปถึงการใช้เวลาไปเพื่อพัฒนาตนเอง และ 8 ชั่วโมงสุดท้ายคือ ช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนนอนหลับ  

ผลสำรวจ HAPPINOMETER พบ 52% ของคนทำงานองค์กร ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน

ข้อมูลจากการสำรวจความสุขคนทำงานองค์กรในประเทศไทย ประจำปี 2564 พบร้อยละ 52 ของผู้ตอบแบบสำรวจทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน การสำรวจนี้ใช้ HAPPINOMETER เครื่องมือสำรวจความสุขด้วยตนเอง พัฒนาโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่วัดความสุขใน 9 มิติ ได้แก่ สุขภาพกายดี (Happy body) ผ่อนคลายดี (Happy relax) น้ำใจดี (Happy heart) จิตวิญญาณดี (Happy soul) ครอบครัวดี (Happy family) สังคมดี (Happy society) ใฝ่รู้ดี (Happy brain) สุขภาพเงินดี (Happy money) และการงานดี (Happy work-life) จาก HAPPINOMETER ได้เปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยความสุขในแต่ละมิติโดยใช้ค่าสถิติทดสอบ T-Test ของกลุ่มคนทำงานน้อยกว่าหรือเท่ากับ 8 ชั่วโมงต่อวัน และกลุ่มคนที่ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน พบความสุขในมิติน้ำใจดี (Happy heart) และ จิตวิญญาณดี (Happy soul) ที่ค่าความสุขของทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันเมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ทางสถิติ ขณะที่อีก 7 มิติค่าความสุขของคนทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันและกลุ่มคนทำงานน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน มีระดับความสุขแตกต่างกัน เมื่อชั่วโมงทำงานมากกว่ากฎ 8-8-8 แล้วคนทำงานจะมีความสุขได้อยู่หรือไม่ ชั่วโมงทำงานต่อวันที่ยาวส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ และต้องแลกกับความสุขในมิติไหนที่จะหายไปบ้าง

หรือเพราะงานท้าทายและเห็นโอกาสเติบโตในงาน จึงมีคนทำงานที่เลือกจะอยู่กับงานนานขึ้นในแต่ละวัน

คนทำงานที่ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงานจนทุ่มเทและใส่ใจในงานมาก อาจทำให้ใช้เวลาในการทำงานแต่ละวันเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ผลสำรวจ HAPPINOMETER ระบุว่าร้อยละ 31 ของคนที่ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันเห็นความชัดเจนและโอกาสที่จะได้เติบโตในหน้าที่การงานในระดับมากถึงมากที่สุด ขณะที่คนที่ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันหรือน้อยกว่าเห็นโอกาสในการเติบโตในงานในระดับมากถึงมากที่สุดเพียงร้อยละ 29 และที่น่าสนใจคือมากกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันให้ความเห็นว่างานที่ทำอยู่มีความท้าทายในระดับมากถึงมากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนทำงานใช้เวลาอยู่กับงานนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เพราะในคนกลุ่มนี้ยังให้ความสนใจในการแสวงหาความรู้เพื่อตนเอง (ร้อยละ 60) และต้องการพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในชีวิตการทำงาน (ร้อยละ 74) มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันหรือน้อยกว่า (สนใจในการแสวงหาความรู้ ร้อยละ 58 และต้องการพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในการงาน ร้อยละ 71) กฎ 8-8-8 อาจใช้ไม่ได้เสมอไปกับคนทำงานทุกคน คนที่ตั้งเป้าหมายด้านความก้าวหน้าในอาชีพการงาน คนที่มีบุคลิกชอบเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองและการทำงาน อาจใช้เวลาไปกับการทำงานในแต่ละวันมากกว่า 8 ชั่วโมงก็เป็นได้

กฎ 8-8-8 สร้างสุขได้ครบทุกมิติ

บริหารเวลาได้ ก็สุขได้" เป็นประโยคท้าทายคนทำงานอย่างน่าสนใจ ผลสำรวจจาก HAPPINOMETER ระบุว่าเกือบ 1 ใน 10 ของคนที่ทำงานวันละ 8 ชั่วโมงหรือน้อยกว่า ได้ใช้เวลาที่เหลืออีก 8 ชั่วโมง สำหรับการพักผ่อนที่ไม่นับรวมการนอนหลับ ซึ่งก็เป็นไปตามกฎ 8-8-8 คนที่ใช้เวลาทำงานวันละ 8 ชั่วโมงหรือน้อยกว่ามีคะแนนความสุขใน 5 มิติ สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน มิติที่มีความสุขสูงกว่าได้แก่ สุขภาพกายดี (Happy body) ผ่อนคลายดี (Happy relax) ครอบครัวดี (Happy family) สังคมดี (Happy society) และสุขภาพเงินดี (Happy money) โดยเฉพาะในมิติผ่อนคลายดีที่สำรวจความเครียดของผู้ตอบแบบสำรวจพบคนทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันมีความรู้สึกเครียดมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนทำงานวันละ 8 ชั่วโมงหรือน้อยกว่า นอกจากนี้เพียง 2 ใน 5 ของคนทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ได้ใช้เวลาร่วมกับสมาชิกในครอบครัวอย่างพอเพียง และมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่ได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เช่น การทานอาหารร่วมกัน ออกกำลังกายด้วยกัน เป็นต้น หากบริหารเวลาให้ใช้ไปกับการทำงานเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อเป้าหมายด้านการทำงาน ช่วงเวลาที่เป็นส่วนของการใช้ชีวิตส่วนตัวและการพักผ่อนนอนหลับก็จะถูกเบียดให้ลดลง จนความสุขในมิติอื่นอาจจะลดลงได้

เราอาจจะ “สนุกกับงาน” จนลืมการใช้ชีวิตในมิติอื่น แน่นอนว่าความเอาใจใส่และทุ่มเทต่องานเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่องค์กรต้องการ ในขณะเดียวกันครอบครัว คนรอบข้าง สังคม เพื่อนบ้าน และแม้แต่ตัวของเราเองก็ต้องการความดูแล เอาใจใส่ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการบริหารจัดการเวลา ให้ความสำคัญกับปัจจุบันและวางแผนให้กับอนาคต HAPPINOMETER: 8-8-8 บริหารเวลาได้ ก็สุขได้ เป็นแนวคิดการจัดสรรเวลาให้อยู่กับงาน ครอบครัว คนรอบข้าง สังคม และสุดท้ายแบ่งเวลาให้กับการนอนหลับให้เพียงพอเพื่อให้ 24 ชั่วโมงใน 1 วันของเราทุกคนมีคุณค่า

250302
โครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน (HAPPINOMETER)
โทร 02-441-0201-4 ต่อ 536 (คุณพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล) ต่อ 538 (คุณปรียา พลอยระย้า)
ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย (TCHS)
โทร 02-441-0201-4 ต่อ 520 (คุณสุภาณี ปลื้มเจริญ) ต่อ 536 (คุณพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล)
โครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน (Happy University)
โทร 02 441 0201 4 ต่อ 426 (นางสาวศกุนตลา แสงสุวรรณ) 536 (นางสาวพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล)