ข่าวประชาสัมพันธ์

ครอบครัว-งาน-เงิน : สามมิติสร้างสุขให้คนทำงาน โดย สุภรต์ จรัสสิทธิ์
หน้าหลัก / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ครอบครัว-งาน-เงิน : สามมิติสร้างสุขให้คนทำงาน โดย สุภรต์ จรัสสิทธิ์
26/11/2564 | 808 ครั้ง

HAPPINOMETER เครื่องมือวัดความสุขคนทำงานองค์กรในประเทศไทย สำรวจความสุขคนทำงานเป็นประจำทุกปี ในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้สำรวจคนทำงานใน 436 องค์กรทั่วประเทศ จำนวน 27,543 คน1 พบความสุขคนทำงานองค์กรลดลงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จาก 60.2 คะแนน ในปี 2562 เป็น 59.5 คะแนน ในปี 2563 ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนทำงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เช่น ผลกระทบเชิงบวกต่อครอบครัว  55.2% ซึ่งจากมาตรการ Work from home คนทำงานที่ปฏิบัติงานที่บ้านมีโอกาสกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวมากขึ้น ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น และผลกระทบเชิงลบด้านการเงิน 46.0% ในด้านการงาน มีทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบเชิงบวก และ ผลกระทบเชิงลบ ซึ่งกลุ่มแรกจะมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มหลังอยู่เล็กน้อย (41.0 และ 35.4% ตามลำดับ) ภายใต้ 3 มิตินี้มีผลกระทบในเชิงบวกและเชิงลบที่น่าสนใจในการสร้างสุขให้คนทำงาน

มิติที่หนึ่ง-ครอบครัว

การอยู่อาศัยของคนทำงานหากแบ่งเป็นคนที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีเด็กหรือผู้สูงอายุเป็นสมาชิกในครอบครัวพบว่ามีมากกว่า 1 ใน 3 ของคนทำงาน ส่วนที่เหลือคือครอบครัวที่ไม่มีเด็กหรือผู้สูงอายุ จากผลการสำรวจพบว่าความสุขของคนที่อยู่บ้านเดียวกันกับเด็กหรือผู้สูงอายุ อยู่ที่ 61.5 คะแนน สูงกว่าบ้านที่ไม่มีเด็กหรือผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งมีความสุขอยู่ที่ 58.5 คะแนน พอจะอธิบายได้ว่าครอบครัวที่มีหลากหลายวัยอาศัยอยู่ร่วมกัน หากมีความเข้าใจความแตกต่างของแต่ละวัยแล้ว ครอบครัวลักษณะนี้เป็นครอบครัวที่จะช่วยส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวมีความสุขทั้งในมิติด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาระยะยาวในประเทศสหรัฐอเมริกายังพบว่าคนที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่มี 2 รุ่น จะมีอายุยืนยาวขึ้น โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจ 2014 General Social Survey-National Death Index2 นำข้อมูลการตายของประชากรในสหรัฐอเมริกาในปี 2014 ศึกษาติดตามย้อนหลังไป 36 ปี จนถึงปี 1978 เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพและความยืนยาวของชีวิตซึ่งพบว่าการอาศัยอยู่ในครอบครัวที่มี 2 รุ่น มีส่วนทำให้คนในครอบครัวมีสุขภาวะที่ดี เพราะสมาชิกในครอบครัวมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ข้อเสนอแนะจากการศึกษานี้ได้ระบุว่าในยามที่ประสบปัญหายากลำบาก ครอบครัวที่มีสมาชิกอยู่กันหลายวัยไม่ได้เป็นปัจจัยส่งเสริมในเรื่องของการมีชีวิตที่ยืนยาวของสมาชิกในครอบครัว

มิติที่สอง-การงาน

ในช่วงที่มีการสำรวจ HAPPINOMETER โควิด-19 ได้ระบาดแล้วทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก วิกฤตครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบในทุกระดับ ในภาคเศรษฐกิจหลายองค์กรได้รับผลกระทบโดยเฉพาะงานภาคบริการ มากกว่าครึ่งของคนที่ตอบแบบสำรวจ HAPPINOMETER รู้สึกว่างานที่ทำขณะนี้มีความมั่นคงในระดับปานกลางถึงน้อยที่สุดหรือรู้สึกว่าไม่มีความมั่นคงเลย และในคนกลุ่มนี้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ อาศัยอยู่ในบ้านหลังคาเดียวกันพบว่ามีความสุขต่ำกว่าคนที่มีงานมั่นคง แม้จะอยู่ในบ้านที่มีเด็กหรือผู้สูงอายุก็ตาม ความมั่นคงแข็งแรงของครอบครัวนอกจากจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสุขของคนแต่ละคนได้แล้ว การได้ทำงานในองค์กรที่มีความมั่นคง หรือ ความรู้สึกปลอดภัย มั่นคงจากงานที่ทำ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและมีความสุขได้ ซึ่งในปัจจุบันต้องยอมรับว่าไม่ใช่สถานการณ์ปกติต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคน คนทำงานต่างต้องปรับตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์วิฤตโควิด-19 ความเสี่ยงที่จะตกงาน ไม่มีงานทำ ความกังวลที่จะไม่มีรายได้ในอนาคต ส่งผลต่อคะแนนความสุขที่ต่ำกว่าคนที่มีงานทำที่มั่นคง

หมายเหตุ: ความสุข 9 มิติ ประกอบด้วย 1) สุขภาพกาย 2) ผ่อนคลายดี 3) น้ำใจดี 4) จิตวิญญาณดี 5) ครอบครัวดี 6) สังคมดี 7) ใฝ่รู้ดี 8) สุขภาพเงินดี และ 9) การงานดี

มิติที่สาม- การเงิน

เมื่อพูดถึงงานจะลืมพูดถึงเรื่องเงินคงไม่ได้ คำกล่าวที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” คนทำงานในองค์กรเมื่อมีงานทำก็หมายถึงการมีรายได้ จากผลการสำรวจ HAPPINOMETER จะพบว่ายิ่งรายได้สูงความสุขก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีการนำมาตรวัด The Financial Anxiety Scale มาวัดความอยู่ดีมีสุขของคนทำงานอายุ 25 - 60 ปี ในประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยตั้งสมมติฐานว่าในช่วงวิกฤตนี้คนทำงานที่มีงานที่ไม่มั่นคงจะเกิดความกังวลทางด้านการเงินมากกว่า ซึ่งผลการศึกษาเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้3 จะเห็นได้ว่าแม้มีงานทำแต่หากไม่มีความมั่นคงก็มีผลกระทบทางด้านจิตใจเช่นกัน เมื่อทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมจากข้อมูลการสำรวจ HAPPINOMETER ในคนที่มีงานมั่นคงและไม่มีสมาชิกที่เป็นเด็กหรือผู้สูงอายุในครอบครัว พบว่ากลุ่มนี้ได้รับผลกระทบด้านการเงินในช่วงวิกฤตโควิด-19 ต่ำที่สุด คือ 37.7% ขณะที่คนที่มีงานที่ไม่มั่นคงไม่ว่าจะอยู่ในครอบครัวที่มีสมาชิกวัยเดียวกันหรือจะต่างวัยก็ได้รับผลกระทบด้านการเงินมากที่สุด ซึ่งครอบครัวที่มีเด็กหรือผู้สูงอายุ ถูกมองว่ามีความเปราะบาง โดยในการศึกษาของ Thailand Development Research Institute (TDRI) พบว่าครอบครัวที่มีเด็กเล็กมีความสามารถในการแก้ปัญหาน้อยกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก4

หมายเหตุ: แสดงเฉพาะร้อยละของคนที่ได้รับผลกระทบเชิงลบด้านการเงินจากสถานการณ์โควิด-19
โดยอัตราส่วนร้อยกระจายไปในผลกระทบเชิงลบ เชิงบวก และไม่ได้รับผลกระทบ

ครอบครัว-การงาน-การเงิน ในยุคโควิด-19 ต้องสร้างสมดุลการใช้จ่าย บริหารการเงินให้ได้

ครอบครัวคือสังคมเล็กๆ ที่ใกล้ชิดเราที่สุด ความรัก ความผูกพัน ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในครอบครัวช่วยสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับสมาชิกแต่ละคนในบ้าน ครอบครัวที่มีเด็กหรือผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยกันมีระดับความสุขมากกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กหรือผู้สูงอายุ แต่เมื่อคนทำงานรู้สึกว่างานที่ทำไม่มีความมั่นคงหรือมีความมั่นคงปานกลางถึงน้อยที่สุด คนกลุ่มนี้กลับมีความสุขน้อยกว่าคนที่มีงานที่มั่นคงทำแม้ว่าจะอยู่ในครอบครัวที่มีคนหลายวัยอยู่ร่วมกัน และยิ่งในวิกฤตโควิด-19 การดูแลเด็ก/ผู้สูงอายุทั้งในด้านการดูแลสุขภาพหรือความช่วยเหลือด้านการเงิน ครอบครัวกลุ่มนี้อาจจะต้องการความช่วยเหลือหรือได้รับผลกระทบมากกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กหรือผู้สูงอายุ ในเมื่อโควิด-19 ยังคงระบาดอยู่ในขณะนี้ และการเงินเป็นมิติที่คนทำงานได้รับผลกระทบเชิงลบมาก เพื่อจะไม่เผชิญกับเรื่องที่ไม่คาดฝันจากงานที่ไม่มั่นคงหรือการมีรายได้ไม่พอรายจ่าย ไม่มีเงินเก็บออมยามฉุกเฉิน การบริหารจัดการด้านการเงินจึงเป็นสิ่งที่คนทำงานควรลงมือทำทันที ปรับพฤติกรรมวางแผนและสร้างวินัยทางการเงินที่ดี เก็บเงินส่วนหนึ่งเข้าบัญชีเงินออมฉุกเฉิน อาจต้องลดรายจ่ายบางอย่างลงเพื่อให้มีเงินออมบ้าง หากทำได้ก็จะเป็นคนที่มีวินัยทางการเงิน และครอบครัวมีเงินเก็บออมไว้ใช้ยามฉุกเฉินสำหรับอนาคต เมื่อมีการสำรวจความสุขในปีถัดไป ผลกระทบเชิงลบด้านการเงินของคนทำงานอาจลดลง รวมถึงความสุขคนทำงานที่จะเพิ่มขึ้นก็เป็นได้


อ้างอิง

  1. โครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาพและความยั่งยืน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำการสำรวจความสุขคนทำงานองค์กร ปี 2563 โดยได้ ทำการสำรวจความสุขคนทำงานเป็นประจำทุกปี ด้วยเครื่องมือ HAPPINOMETER วัดความสุขคนทำงานในองค์กร ข้อมูลมีการถ่วงน้ำหนักคนทำงานในองค์กร 17 ประเภทอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นตัวแทนกลุ่มคนทำงานองค์กรในประเทศไทย
  2. Muennig, P., Jiao, B., & Singer, E. (2017). Living with parents or grandparents increases social capital and survival: 2014 General Social Survey-National Death Index. SSM - population health, 4, 71–75. doi.org/10.1016/j.ssmph.2017.11.001
  3. Basyouni SS & El Keshky MES. (2021). Job Insecurity, Work-Related Flow, and Financial Anxiety in the Midst of COVID-19 Pandemic and Economic Downturn. Front. Psychol. 12:632265. doi: 10.3389/fpsyg.2021.632265
  4. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ). (2563). ผลกระทบของโควิด-19 ต่อครอบครัวเปราะบาง: ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก .

    ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/happinometer
                                        http://128.199.248.92/newsDetail.php?id=550
234348
โครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน (HAPPINOMETER)
โทร 02-441-0201-4 ต่อ 536 (คุณพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล) ต่อ 538 (คุณปรียา พลอยระย้า)
ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย (TCHS)
โทร 02-441-0201-4 ต่อ 520 (คุณสุภาณี ปลื้มเจริญ) ต่อ 536 (คุณพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล)
โครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน (Happy University)
โทร 02 441 0201 4 ต่อ 426 (นางสาวศกุนตลา แสงสุวรรณ) 536 (นางสาวพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล)