ข่าวประชาสัมพันธ์

โควิด 19 ความมั่นคงของงาน - พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ
หน้าหลัก / ข่าวประชาสัมพันธ์ / โควิด 19 ความมั่นคงของงาน - พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ
21/01/2564 | 969 ครั้ง

ในภาวะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่กำลังเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในประเทศไทยต้องจัดการและรับมืออยู่ในขณะนี้ ผลกระทบที่อาจจะมีต่อภาวะการจ้างงานของประชากร การมีงานทำ หรือการต้องหยุดทำงาน หรือรุนแรงขั้นสุดถึงการถูกเลิกจ้าง จากการที่สถานประกอบการไม่สามารถฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายกังวลและยังต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป

จากผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2563 (ไตรมาส 3)1 พบว่า อัตราการว่างงานภาพรวมของประเทศ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานทั้งหมด สูงกว่าในปี 2562 ไตรมาส 3 ที่อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ซึ่งก็พอจะเป็นตัวชี้วัดให้เห็นผลกระทบที่มีต่อตลาดแรงงานของไทยในช่วงที่มีการระบาดระลอกแรกได้บางส่วน แต่ผลกระทบบางส่วนก็น่าที่จะยังไม่สามารถแสดงออกมาเป็นตัวเลขชัดเจนในการสำรวจ ซึ่งอาจเป็นผลกระทบแฝงที่มีต่อลักษณะงานที่เปลี่ยนไป จำนวนชั่วโมงการทำงานของผู้ที่ยังมีงานทำ รวมถึง ค่าตอบแทนที่ได้รับที่น่าจะลดลงพอสมควร ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดและสถานประกอบการจำนวนมากแม้ยังไม่เลิกแต่ก็ต้องหยุดดำเนินการ หรือลดการผลิตลง

ดังนั้น สำหรับแรงงานหรือคนทำงานที่ยังคงมีงานทำ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นลูกจ้าง แม้จะยังไม่ถูกเลิกจ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ อย่างน้อยที่สุดก็ย่อมที่จะมีผลกระทบต่อความรู้สึกเรื่อง "ความมั่นคงของงาน" ที่ตนเองกำลังทำอยู่ ซึ่งความรู้สึกนี้มีความสำคัญมากต่อขวัญกำลังใจในการทำงาน ความวิตกกังวล และอาจนำไปสู่ความเครียดของคนทำงานได้ ซึ่งความเครียด ก็อาจเป็นปัจจัยนำไปสู่การมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพในบางเรื่องที่เพิ่มขึ้นของคนทำงาน โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น รวมถึงอาจส่งผลไปยังการขาดกะจิตกะใจในการไปออกกำลังกายหรือมีพฤติกรรมทางกายที่เพียงพอ ในต่างประเทศมีการศึกษาในเรื่องนี้อยู่พอสมควร เกี่ยวกับความสัมพันธ์หรืออิทธิพลของความรู้สึกไม่มั่นคงในงานที่มีต่อการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพที่เพิ่มขึ้นของคนทำงาน2, 3, 4

แล้วสำหรับคนทำงานในประเทศไทยล่ะ?

ในปี 2561 ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Center for Happy Worker Studies (TCHS) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร)5 ในประเทศไทยซึ่งครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างคนทำงาน จำนวน 21,086 คน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ด้วยเครื่องมือวัดความสุข HAPPINOMETER ซึ่งมีข้อคำถามเกี่ยวกับ "ความรู้สึกต่อมั่นคงของงานที่ทำอยู่" และ พฤติกรรมทางสุขภาพของคนทำงานในเรื่อง การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการออกกำลังกาย อยู่ในชุดคำถามด้วย ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงอยากลองนำข้อมูลจากผลการสำรวจนี้มาลองวิเคราะห์ดูว่า ความมั่นคงของงาน กับ พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพน่าที่จะะมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ในบริบทคนทำงานของไทย

ภาพโดย วราวรรณ ฐาปนธรรมชัย

เมื่อเราจำแนกกลุ่มคนทำงานตามระดับความรู้สึกที่มีต่อความมั่นคงของงานที่ตนทำอยู่ เป็น 3 ระดับ จากมั่นคงมากหรือมากที่สุด มั่นคงปานกลาง จนถึง ไม่มั่นคงเลยหรือน้อยที่สุด และนำมาพิจารณาควบคู่กับข้อมูลพฤติกรรมทางสุขภาพ ก็พบว่า สัดส่วนของคนทำงานที่สูบบุหรี่ (ทั้งนาน ๆ ครั้ง หรือเป็นประจำ) ที่ดื่มแอลกอฮอล์ (ทั้งนาน ๆ ครั้ง หรือเป็นประจำ) และที่ออกกำลังกายไม่เพียงพอ (ไม่ออกกำลังกายเลย หรือออกกำลังกายน้อยกว่า 3 วัน ต่อสัปดาห์) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามระดับความไม่มั่นคงของงานที่รู้สึกโดยคนทำงาน คนทำงานที่รู้สึกว่างานไม่มั่นคงเลยหรือมีความมั่นคงน้อย มีการสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 46.3 ดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 48.3 และ ไม่ออกกำลังกายเลยหรือออกกำลังกายน้อยกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ ถึงร้อยละ 94.1 ขณะที่กลุ่มคนทำงานที่รู้สึกว่างานของตนเองมีความมั่นคงมากถึงมากที่สุด มีพฤติกรรมเหล่านี้ที่ต่ำกว่าชัดเจนที่ ร้อยละ 14.3 ร้อยละ 16.2 และร้อยละ 80.2 ตามลำดับ

ที่มา : ประมวลจากข้อมูลการสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ปี 2561 ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย (TCHS) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

แม้ข้อมูลตัวเลขเหล่านี้ ยังต้องมีการนำไปวิเคราะห์และทดสอบความมีนัยยะสำคัญทางสถิติต่อไปเพื่อยืนยันความสัมพันธ์นี้ แต่อย่างน้อยในเบื้องต้นก็พอจะชี้ให้เห็นได้ว่า ความรู้สึกที่ไม่มั่นคงต่องานที่ตนเองทำอยู่ น่าจะมีความสัมพันธ์กับการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพที่อาจจะเพิ่มขึ้นของคนทำงาน ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันกับโควิด 19 ที่คนทำงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างอยู่ในสถานประกอบการ น่าจะมีความรู้สึกไม่มั่นคง และความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อการถูกเลิกจ้าง หรือถูกลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน การให้ความสำคัญในการมีกลไกสนับสนุน เฝ้าระวังและหาทางป้องกันการเพิ่มขึ้นของพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพของคนทำงาน ในเรื่องการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์และออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ จึงเป็นเรื่องที่สถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรช่วยกันดูแล


อ้างอิง

  1. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2563). การสำรวจภาวะการทำงานของประชากร พ.ศ. 2563 (ไตรมาส 3). สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  2. Bert, F., Gualano, M.R., Thomas, R., Vergnano, G., Voglino, G. & Siliquini, R. (2020). “Exploring the possible health consequences of job insecurity: a pilot study among young workers”, Gaceta Sanitaria, Vol. 34 (4), pp. 385-392, doi: 10.1016/j.gaceta.2018.08.011.
  3. Khubchandani J, Price JH. (2017). Association of Job Insecurity with Health Risk Factors and Poorer Health in American Workers. J Community Health. Apr; 42(2): 242-251. doi: 10.1007/s10900-016-0249-8. PMID: 27614889
  4. Bartley, M. (2005). “Job insecurity and its effect on health”. Journal of Epidemiology & Community Health. Vol. 59, pp. 718-719.
  5. ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย. (2561). ผลการสำรวจความสุขคนำทงาน (ในองค์กร) ปี 2561. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล [http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsrbeta/th/Download.aspx?Page=Book_Report&DownloadID=567&File=Report-File-567.pdf]

ติดตามได้ที่ : https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=382

301682
โครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน (HAPPINOMETER)
โทร 02-441-0201-4 ต่อ 536 (คุณพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล) ต่อ 538 (คุณปรียา พลอยระย้า)
ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย (TCHS)
โทร 02-441-0201-4 ต่อ 520 (คุณสุภาณี ปลื้มเจริญ) ต่อ 536 (คุณพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล)
โครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน (Happy University)
โทร 02 441 0201 4 ต่อ 426 (นางสาวศกุนตลา แสงสุวรรณ) 536 (นางสาวพัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล)