คนทำงานในประเทศไทยมีความสุขจริงหรือ?
ผลสำรวจเผยความท้าทายของแรงงานไทยในยุคเปลี่ยนผ่านทางประชากร
ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
วันแรงงานแห่งชาติปี 2568 นี้ อยู่ในช่วงปีที่เศรษฐกิจโลกผันผวนสูงมาก โดยเฉพาะในบริบทของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนสถานการณ์ การทำงานอย่างมีความสุขของคนวัยทำงาน ควบคู่กับ องค์กรสุขภาวะ ในประเทศพร้อมกับความท้าทายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังผ่านผลการสำรวจด้วย HAPPINOMETER Web-based Application ประจำปี 2568
สถานการณ์ความผาสุกในการทำงานของคนทำงานในประเทศไทย: ภาพสะท้อนที่ต้องสร้างเสริม
คนทำงานกว่า 10,340 คนจาก 140 องค์กรทั่วประเทศ จากการสำรวจระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือน มีนาคม 2568 สะท้อน ความผาสุกในการทำงานด้วยภาพรวมค่าคะแนนเฉลี่ย 3 องค์ประกอบ คือ สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี (Health & Well-Being) ความสุขในการทำงาน (Happy Work-Life) และสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน (Work-life Balance)
ผลสำรวจครั้งนี้ พบว่า อยู่ที่ 63.6 คะแนน เมื่อจำแนก สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีออกเป็น 4 มิติ เห็นชัดเจนว่า การทำงานอย่างมีความสุขของคนทำงานมาจากจากมิติของ “สุขภาพกาย” ที่มีคะแนนสูงสุด คือ 66.0 รองลงมาเป็นมิติสุขภาพจิตผ่อนคลาย 64.1 คะแนน มิติสุขภาพปัญญา 63.0 คะแนน และต่ำสุดคือ มิติสุขภาพสังคม 61.2 คะแนน
จากการสำรวจเดียวกัน พบว่า ความสุขในการทำงาน มีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 56.0 เมื่อเทียบค่าคะแนนเฉลี่ยกับสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของคนทำงาน เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่ามาก สะท้อนให้เห็นว่า แม้คนทำงานในประเทศไทยมีสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี แต่ความสุขในการทำงานยังอยู่ในระดับที่ควรได้รับการติดตาม
มี 3 ตัวชี้วัดที่น่าสนใจ ที่แสดงให้เห็นว่า คนทำงานกว่าร้อยละ 46.2 รู้สึกว่า ตนเองทำงานเฉลี่ยวันละ 7-8 ชั่วโมง และเป็นที่น่าจับตามองว่า คนทำงานกว่าครึ่ง (ร้อยละ 49.8) รู้สึกว่าทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และองค์กรยังมีความยืดหยุ่นในการทำงานที่อยู่ในระดับปานกลางถึงมาก คิดเป็น 63.2% นอกจากนี้ ยังพบว่า คนทำงานส่วนใหญ่ยังสามารถบริหารและจัดสรรเวลาในการทำงานกับชีวิตประจำวันได้อยู่ในระดับดี คิดเป็น 76.5
สถานการณ์องค์กรสุขภาวะในประเทศไทย: ภาพสะท้อนความยั่งยืน
“องค์กรสุขภาวะ” (Healthy Workplace) ในประเทศไทยจากการสำรวจครั้งนี้ มีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 58.7 คะแนน ประเมินจาก 4 องค์ประกอบ ได้แก่ สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี (Health & Well-Being) 63.6 คะแนน ความสุขในการทำงาน (Happy Work-Life) 56.0 คะแนน สมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน (Work-life Balance) และความผูกพันองค์กร (Engagement) ของคนทำงานในองค์กร ซึ่งมีคะแนนความผูกพันต่อองค์กร (Engagement) ในภาพรวมอยู่ที่ 62.4
เมื่อวิเคราะห์ตามภูมิภาค พบว่า องค์กรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคะแนนองค์กรสุขภาวะสูงที่สุด คือ 61.4 ตามด้วยภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก (59.7, 58.5, 55.1, และ 55.0) ตามลำดับ
ประเภทอุตสาหกรรม: โอกาสในการพัฒนา
เมื่อวิเคราะห์ตามประเภทอุตสาหกรรม ข้อมูลเผยให้เห็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
ในขณะที่อุตสาหกรรมที่คนทำงานมีความสุขในการทำงานต่ำสุด 3 อันดับสุดท้าย คือ กิจกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร (49.2) กิจกรรมไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบปรับอากาศ (50.0) และการผลิต (52.3) ตามลำดับ และที่น่าสนใจคือ กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนคนทำงานที่มีความผูกพันสูงต่อองค์กรน้อยที่สุดเพียง 3.6% ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรได้รับการศึกษาและพัฒนาต่อไป
โปรดติดตาม Next Episode! พบกับ
“ความท้าทายของตลาดแรงงานไทยในบริบทการเปลี่ยนแปลงทางประชากรโลก”
เพราะ “ความสุขในการทำงาน” ไม่ใช่แค่ความรู้สึก แต่คือพลังขับเคลื่อนองค์กร
พบกับซีรีส์ HAPPINOMETER 2568 ตลอดเดือนพฤษภาคม
ที่จะพาคุณไปรู้จักเบื้องลึกของสิ่งที่ทำให้คนอยาก “อยู่” และ “เติบโต” ไปกับองค์กร
แหล่งข้อมูล:
ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย. (2568). ผลการสำรวจแฮปปีโนมิเตอร์: การสำรวจระดับประเทศ ประจำปี 2568 สุขภาวะ ความอยู่ดีมีสุข และการเพิ่มผลิตภาพในการทำงาน ขององค์กรแห่งความสุขในประเทศไทย. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.